
ประเภทของผู้ตรวจสอบบัญชี ต่างกันอย่างไร
ผู้ตรวจสอบบัญชีหรือที่เรียกกันทั่วไปว่า Auditor ที่จริงแล้วผู้ตรวจสอบบัญชีไม่ได้มีแค่ผู้ตรวจสอบบัญชีที่ทำหน้าที่ตรวจสอบงบการเงินประจำปีเท่านั้น ยังมีผู้ตรวจสอบบัญชีประเภทอื่นด้วย โดยผู้ตรวจสอบบัญชีแบ่งออกได้ 4 ประเภทดังนี้
ผู้ตรวจสอบบัญชีภายนอก (External Auditor) หรือ ผู้สอบบัญชีรับอนุญาตทั่วไป (CPA)
ความหมายอีกนัยหนึ่งของผู้ตรวจสอบบัญชี คือ เป็นผู้ตรวจสอบตามกฎหมาย(Statutory Auditor) ซึ่งเป็นผู้ที่ขึ้นทะเบียนและได้รับใบอนุญาตจากสภาวิชาชีพบัญชีในพระบรมราชูปถัมภ์ ตามพระราชบัญญัติวิชาชีพบัญชี พ.ศ.2547 สามารถตรวจสอบบัญชีและรับรองงบการเงินของบริษัทจำกัดและห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลได้
ผู้ตรวจสอบบัญชีภาษีอากร (TA: Tax Auditor)
เป็นบุคคลที่ขึ้นทะเบียนและได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ตรวจสอบบัญชีภาษีอากรจากอธิบดีกรมสรรพากร ตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.98/2554 โดยผู้ตรวจสอบบัญชีภาษีอากรสามารถตรวจสอบบัญชีและรับรองงบการเงินเฉพาะห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีทุนจดทะเบียนหรือทุนที่ชำระแล้วในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกิน 5 ล้านบาทและมีสินทรัพย์รวมและรายได้รวมของรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกิน 30 ล้านบาท
ผู้ตรวจสอบภายใน (Internal Auditor)
เป็นบุคคลที่ทำหน้าที่ตรวจสอบและประเมินประสิทธิภาพระบบการควบคุมภายในให้แก่องค์กรอย่างเป็นอิสระ รวมทั้งการประเมินประสิทธิภาพการบริหารความเสี่ยงขององค์กร เพื่อให้เกิดการปรับปรุงการปฏิบัติงานขององค์กร มีการควบคุมและกำกับดูแลกิจการอย่างเป็นระบบ ผู้ตรวจสอบภายในเป็นได้ทั้งพนักงานขององค์กรหรือบุคคลภายนอก(Outsource) ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากฝ่ายบริหาร
ผู้สอบบัญชีที่ได้รับความเห็นชอบจาก กลต. (List of auditors approved by the office of SEC)
ผู้สอบบัญชีที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) ในการรับรองงบการเงิน (List of auditors approved by the office of SEC) หมายถึงผู้สอบบัญชีสำหรับ บริษัทที่อยู่ในตลาดทุน,บริษัทที่ยื่นขอจดทะเบียนในตลาดทุน (IPO) กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เป็นต้น
จากที่กล่าวมาผู้สอบบัญชีทั้ง 4 ประเภท มีขอบเขตการทำงานและหน้าที่ที่แตกต่างกัน สำหรับผู้ตรวจสอบบัญชีที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ SMEs ห้างหุ้นส่วนและบริษัททั่วไป ได้แก่ ผู้ตรวจสอบบัญชีทั่วไปและผู้ตรวจสอบบัญชีภาษีอากร